จิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว
ธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว อย่างพอมันไปรู้รูปที่มองเห็น มันก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจ พอมันไปสนใจกับเสียงที่ได้ยิน มันก็ลืมกายลืมใจตัวเอง อย่างสามีภรรยาข้างบ้านเรา สมมติว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน เขาทะเลาะกันเสียงดัง เราก็ฟัง อันนี้ยังไม่เท่าไร ถ้าเขาพูดกันเบาๆ แล้วอยากฟัง พยายามเงี่ยหูฟัง จิตใจเรามันพุ่งไปที่เขา พุ่งไปที่เสียง พุ่งไปที่คนที่พูด เราไม่สามารถเห็นได้ว่า จิตใจเรากำลังเป็นเปรตอยู่ กำลังยืดคอให้ยาว จะไปฟังชาวบ้านเขา โลภะมันเกิด ไม่เห็น
ฉะนั้นจริงๆ แล้ว การจะรู้กายรู้ใจตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ใครๆ ก็ทำได้ อย่าสนใจสิ่งที่ถูกรู้มากเกินไป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กระทบร่างกาย ธัมมารมณ์ คือเรื่องราวทางใจ เวลาจิตเราไปสนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ อย่างเราใจลอย ไปคิดถึงใครสักคนหนึ่ง คนมาร้องเรียกเรา เรายังไม่ได้ยินเลย มันลืม ร่างกายนั่งอยู่ ไม่รู้ หรือนอนคิดอยู่ ร่างกายนอนอยู่ ไม่รู้ คิดไปแล้วเกิดสุข ไม่รู้ คิดแล้วเกิดทุกข์ ไม่รู้ คิดแล้วโลภ โกรธ หลง ไม่รู้ เพราะอะไร เพราะมันมัวแต่ไปรู้ในรูปทั้งหลาย ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส รู้เรื่องราวที่คิดนึกทั้งหลาย มันก็เลยไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ เพราะธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว
อันนี้ถ้าเราค่อยๆ สังเกตจิตใจของเรา เราจะเข้าใจ อย่างเราดูทีวี ดูซีรีส์ ดูอะไรอย่างนี้ ไปสังเกตให้ดีขณะที่เราไปดูซีรีส์ แล้วเรามีกาย เราลืมกาย มีจิตใจเราลืมจิตใจ มัวแต่ไปดูซีรีส์ แล้วถ้าเรารู้ได้ละเอียดเข้าไป เราจะเห็นละเอียดขึ้นไปอีก ขณะที่เราได้ยินเสียง ตาเราจะไม่จับที่รูป รูปจะไม่ชัดแล้ว อย่างเราตั้งใจว่า พระเอกจะบอกรักนางเอกอย่างไร สนใจที่จะฟัง ตาเราที่มองจอนี้ มันจะเบลอไป มันจะไปชัดอยู่ที่เสียง ฉะนั้นถ้าหากสติเราว่องไวพอ สมาธิเรามากพอ เราจะเห็นขณะที่ดูซีรีส์ เราใช้อายตนะ 3 ตัว บางทีตาก็ไปดูรูป หูก็ไปฟังเสียง ใจก็ไปคิด อย่างเราฟังเขาพูดกัน เราก็คิดตาม หรือเขาแสดงท่าทาง เราก็คิดว่านี้เป็นภาษาท่าทาง มีความหมายอย่างไร
ฉะนั้นเราสังเกตให้ดี ที่เราแค่ดูซีรีส์อันเดียว แป๊บเดียวนั้น ประเดี๋ยวก็ใช้ตา ประเดี๋ยวก็ใช้หู ประเดี๋ยวก็ใช้ใจ สลับกันไปเรื่อยๆ มันถึงรู้เรื่อง ถ้าตาไปดู หูไปฟัง แต่ใจไปที่อื่น ตาก็มองเห็น จอทีวีก็อยู่ข้างหน้าเรานี้ ตาก็เห็น แต่ใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เราไม่รู้เรื่องว่าหนังไปถึงไหนแล้ว ไม่รู้ รู้อีกทีหนังจบแล้ว ฉะนั้นธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ถ้าเรามัวแต่สนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวที่คิด เราก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ ใครก็ทำไม่ได้ พระอรหันต์ทำได้ไหม เห็นรูปด้วย ฟังเสียงด้วย คิดด้วย รู้ด้วย
จิตเกิดดับเป็นขณะๆ เวลาคิด จิตก็ไม่ได้จับอยู่ที่รูปนาม ไม่ได้มองเห็นไตรลักษณ์ แล้วไปรู้เรื่องที่คิด เป็นอารมณ์บัญญัติ ใจมันก็หมุนเวียนไป ฉะนั้นกระทั่งพระอรหันต์ ท่านยังมีจิตที่อยู่ในกามาวจร คือจิตบางดวงก็ไปทางตา ไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไปคิด ขณะที่จิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นไม่มีกุศลหรืออกุศลอยู่แล้ว ตรงที่จิตมันคิดขึ้นมา พิจารณาอารมณ์อันนั้นขึ้นมา ถ้าเป็นพระอรหันต์ มันจะสักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น จิตจะไม่สร้างภพขึ้น
อย่างของเราดูซีรีส์ จิตก็สร้างภพ อย่างเราอินไปกับเรื่องที่กำลังแสดง จิตเราไปสร้างภพเรียบร้อยแล้ว เราคุยกับศัตรูเรา จิตก็สร้างภพไปอีกแบบหนึ่ง เราคุยกับคนที่เราชอบ จิตก็สร้างภพไปอีกแบบหนึ่ง คุยกับพ่อแม่ จิตก็สร้างภพไปอีกอย่างหนึ่ง คุยกับลูก จิตก็สร้างภพไปอีกอย่างหนึ่ง จิตมันสร้างภพไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจของความอยาก อยากอะไร อยากให้เขาดูว่าเราดีอะไรอย่างนี้ ตัวอย่าง แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีความอยาก เพราะฉะนั้นตรงจิตที่เสพอารมณ์ สักแต่ว่า สักแต่ว่าไป ไม่ได้อินกับอารมณ์ทั้งหลาย เลยเรียกว่าเป็นกิริยาเท่านั้นเอง เป็นกิริยาอาการของจิตที่จะคิด ที่จะนึก ที่จะปรุงแต่ง เป็นกิริยาอาการเท่านั้นล่ะ แต่ว่าไม่อินกับมัน
ถ้าเราเข้าใจหลักว่า จิตมันรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เราต้องการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ก็ให้จิตใจมันคอยอยู่ที่กายที่ใจ อย่าให้มันร่อนเร่ มัวแต่ไปชะเง้อดูโน่นดูนี่เพลินๆ ไป ก็ลืมกายลืมใจ มัวไปฟังเสียงโน้นเสียงนี้ ฟังเพลง ฟังเขาด่ากัน ฟังเขาชมกัน ฟังนักการเมืองหาเสียง จิตเราก็ไหลไป สังเกตไหมว่าพวกเรา ตอนที่หลวงพ่อยกตัวอย่าง เราไปเห็นดอกไม้ หรือเราไปได้ยินเสียงที่ดีๆ ใจเราก็เป็นแบบหนึ่ง พอหลวงพ่อพูดว่า ไปได้ยินเสียงนักการเมืองพูดกัน รู้สึกไหม ใจเรากระตุกขึ้นมานิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เลย ตึ้กขึ้นมาเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเสียงอกุศล
ถ้าเสียงธรรมชาตินี้ ไม่เป็นกุศลอกุศล เสียงลมพัด ใบไม้ไหว เสียงอะไรอย่างนี้ หรือเสียงบางอย่าง ถ้าเราหลงก็เป็นอกุศล ตัวเสียงไม่เป็นอกุศล อกุศลอยู่ที่ตัวเราเอง อย่างเราได้ยินเสียงนกร้องเพราะๆ เสียงนกร้อง เสียงไม่มีกุศลอกุศล แต่ใจเราชอบ เพลิน อันนี้เผลอเพลิน เป็นราคะ เพลินๆ ไป ฉะนั้นกุศลอกุศลมันมาที่จิตของเรานี้เอง อาศัยการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ส่งสัญญาณเข้ามาแปลค่า เกิดกุศลอกุศลขึ้นที่จิต
หรือบางทีไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจเราคิดขึ้นมา อย่างอยู่ดีๆ เราคิดถึงคน คนหนึ่งขึ้นมา ไม่เคยคิดถึงมาตั้ง 20 ปีแล้ว ไม่เคยนึกถึงเลย อยู่ๆ สัญญามันผุดขึ้นมา นึกถึงคนนี้ขึ้นได้ ความรู้สึกทั้งหลายมันก็เกิดตามมา เช่น คนนี้เป็นเพื่อนรักของเรา พอเราคิดถึง สบายใจ หรือคิดถึงเราสงสัย เอ๊ะ ตอนนี้เพื่อนเราคนนี้ไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร จะสุขหรือทุกข์ จะยากจนหรือร่ำรวย ใจมันฟุ้งต่อ สัญญามันผุดขึ้นมา ใจก็ปรุงต่อได้ หลงต่อได้ ก็มาปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วต่อไป
Comentários