เรารู้ทุกข์ หรือเราพยายามปรุงแต่ง
ฉะนั้นอย่างเราภาวนา เราก็สังเกตตัวเองไป ที่เราภาวนานี้เรารู้ทุกข์ หรือเราอยากละทุกข์ เราละสมุทัย ละความอยาก หรือเราสนองความอยาก สังเกตตัวเองแค่นี้ ง่ายๆ หัดสังเกต สังเกตที่ไหน สังเกตที่กายที่ใจของเรา สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือกายกับใจของเรา รูปนามนั้นเอง สังเกตดูไป อย่างร่างกายเรา เราอยากละไหม เราไม่อยากละ เราหวง หรือจิตใจของเรา เราก็อยากให้มันดี มันเต็มไปด้วยความอยาก แทนที่เราจะเห็นกายอย่างที่กายเป็น เราก็อยากให้มันดีตลอด อยากให้มันหนุ่มสาวตลอด ให้มันแข็งแรงตลอด มันมีความอยากแทรกอยู่
ในขั้นลงมือปฏิบัติ เราก็อยากทำให้ถูก ทำอย่างไรจะถูก เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เป็น ตื่นนอนปุ๊บ มันจะนึกทันทีเลย วันนี้เราจะปฏิบัติอย่างไรดี นึกเลยวันนี้จะปฏิบัติอย่างไรดี เราจะได้เจริญกว่านี้อีก แล้วดูไม่ออกว่านั่นมันโลภไปเรียบร้อยแล้ว นึกว่านี่ใส่ใจในการปฏิบัติ ที่จริงก็คือ มันตกอยู่ใต้ความโลภไปเรียบร้อยแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาก็ถามตัวเองเลย วันนี้จะภาวนาอย่างไรดี แทนที่จะรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร แทนที่จะเห็นกายเห็นใจ ทุกข์ให้รู้ แทนที่จะรู้กายรู้ใจ เรากลับคิดว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร แทนที่จะรู้กลับคิดเรื่องทำ นี่มันผิด
อาศัยความสังเกตตัวเองไป มันจะค่อยๆ รู้ เฮ้ย นี่มันไปทำขึ้นมาแล้ว คำว่า “ทำ” นั้นก็คือคำว่า “ปรุงแต่ง” นั่นเอง ความปรุงแต่ง หรือตัวสังขาร ที่เราทำถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป ไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่มันก็ทำชั่ว ปรุงชั่ว อปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่วตามกิเลสไปเรื่อยๆ พอเราเป็นนักปฏิบัติ เราจะปรุง 2 อย่าง เราปรุงดี เป็นปรุงปุญญาภิสังขาร กับพยายามจะไม่ปรุง เรียกอเนญชาภิสังขาร พยายามไม่ปรุง ทำจิตให้ว่าง วันๆ ก็คิดแต่ทำจิตให้ว่าง พยายามให้จิตเลิกปรุงแต่ง อันนั้นผิด
ฉะนั้นเราใช้ความสังเกตเอา สังเกตเอา ที่เราทำอยู่นี้ถูกหลักหรือเปล่า เรารู้ทุกข์ หรือเราพยายามปรุงแต่ง แต่งอย่างโน้น แต่งอย่างนี้ รู้ทันตัวเองไป แล้วเวลารู้ทุกข์ คือรู้กายรู้ใจแล้วจะเห็นอะไร เราจะเห็นความจริงของทุกข์ ความจริงของทุกข์คืออะไร คือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราดูกาย เราดูใจ แต่ไม่เห็นไตรลักษณ์ บางทีเห็นตรงข้ามกับไตรลักษณ์เลย
อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง หลวงพ่อเคยทำผิด ดูกิเลสแล้วจิตมันเคลื่อนออกไป ตามกิเลสออกข้างนอกไป กิเลสดับจิตอยู่ข้างนอก จิตว่างสว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย มีแต่ความสุขล้วนๆ เลย จนวันหนึ่งก็เฉลียวใจ เอ๊ะ พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง ท่านบอกว่ามันเป็นทุกข์ ทำไมเรามีแต่สุข ท่านว่าบังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ นี่จิตเราฝึกเก่งเลย เป็นกูเก่งซะอีก เราเก่ง เราบังคับจิตได้ นี่คือเฉลียวใจ มันผิดหลักของไตรลักษณ์ พอมันผิดหลักไตรลักษณ์ ก็แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิดแล้ว ก็ค่อยๆ สังเกตเอา มันผิดตรงไหนคราวนั้นสังเกตไม่ออก เพราะว่าจิตมันไม่เข้าฐาน ก็เลยดูตัวเองไม่ออก
พอดีเจอหลวงตามหาบัว ถามท่าน ท่านแก้ให้ ท่านบอก “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว” ท่านให้บริกรรม ท่านว่าอย่างนี้ หลวงพ่อก็มาภาวนา แล้วก็สังเกตเอา เอ๊ะ ทำไมท่านให้บริกรรม ปกติบริกรรมมันก็คือการเพิ่มสมาธิ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ เพราะหลวงพ่อทำสมาธิตั้งแต่เด็ก 22 ปี แล้วมันรู้สึก มันไมได้อะไร มาเจริญปัญญาเห็นจิตเกิดดับ แล้วมันพัฒนาเร็ว ก็เลยรังเกียจสมาธิ ดูถูกการทำสมาธิ ลึกๆ ดูถูก ก็เลยไม่ยอมทำสมาธิ เดินปัญญารวดไปเลย พอสมาธิไม่พอ วิปัสสนูปกิเลสก็เกิดขึ้น จิตไปหลงอยู่ในความว่าง ในช่องว่าง ติดอยู่ในโอภาส ในแสงสว่าง ในอะไรพวกนี้ อันนี้ท่านให้ทำสมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิขึ้นมา วิปัสสนูปกิเลสก็ดับ
พวกเราจำหลักไว้เลย ถ้าเราเจริญปัญญาแล้วสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส แต่เมื่อเกิดวิปัสสนูปกิเลส ไม่ต้องหาทางแก้หรอก ทำความสงบเข้ามาเลย ถ้าจิตเข้าฐานได้เมื่อไร วิปัสสนูปกิเลส 10 อย่างหายหมด มี 10 ชนิดไปถาม Google ดู 10 อย่าง แต่พวกดูจิตๆ มันจะเจอตัวสำคัญเลย ตัวโอภาส ว่าง สว่าง แล้วเราก็ไปติดอยู่ในความว่าง ติดอยู่ในความสว่าง อันนี้ไม่เอา ถ้าติดอย่างนั้นมันไม่เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นแต่ของเที่ยง มีแต่ความสุข บังคับได้
เพราะฉะนั้นเรื่องสมาธิก็สำคัญ ทิ้งไม่ได้ ต้องทำ ฝึกทุกวันๆ แบ่งเวลาไว้เลย วันละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเอง ว่าต้องทำก่อนนอนหรอก ตื่นนอนก็ทำได้ กลางวันกินข้าวแล้วก็ทำได้ มีเวลานิดๆ หน่อยๆ เราก็ทำได้ หลวงพ่อแต่ก่อนขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถเมล์ได้ก็ทำ รอรถเมล์อยู่ก็ทำ ทำตลอด ฉะนั้นการภาวนามันก็เลยราบรื่น อย่างหลวงพ่อเป็นพวกภาวนาง่าย ปฏิบัติง่าย ไม่ยาก แต่ว่าเราทำทั้งวัน
Comments